Saturday, December 1, 2012

และแล้วก็ไม่ต้องอาบน้ำทั้งน้ำตาอีกต่อไป

ลูกๆบ้านไหนมีปัญหาเวลาอาบน้ำกันบ้างมั้ยคะ?

อะแฮ่ม...บ้านนี้ค่าบ้านนี้ (เหยียดแขนยกมือสูง)

เจ้าวู้ดไพล์(เคย)เป็นเด็กที่มีปัญหาในการอาบน้ำมว้ากค่าาาาาาาา

จริงๆแล้วช่วงแรกเกิดจนกระทั่งถึงอายุประมาณสามอาทิตย์แรกเนี่ย เจ้าวู้ดไพล์ไม่ค่อยมีปัญหาเวลาอาบน้ำ คือยินยอมให้อาบน้ำแต่โดยดี ไม่หงุดหงิด งอแงหรือร้องไห้ นานๆจะมีร้องอุแว้ๆขึ้นมาสักครั้ง

แต่หลังจากนั้นค่ะ ไม่รู้เป็นอะไร ถึงเวลาอาบน้ำทีไร พี่เค้าจัดหนักจัดเต็มตลอด แค่เริ่มปลดเชือกหรือกระดุมของเสื้อเค้า ก็ร้องไห้สุดปอดปานโลกจะแตก และถ้าเริ่มร้องแล้ว...ขอบอกว่าไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งได้ค่ะ คือพี่เค้าจะร้องลากยาวไปจนกว่าจะใส่เสื้อผ้าชุดใหม่โน่นเลย เล่นเอาพ่อกับแม่ถึงกับเพลีย

แต่พ่อกับแม่ไม่ยอมแพ้ค่ะ เวลาเห็นลูกร้องไห้แล้วรู้สึกสงสารเค้ามากๆ พิมกับยุ่นก็พยายามหาสาเหตุกันว่าทำไมหนอพี่วู้ดไพล์ของเราจู่ๆถึงไม่ชอบอาบน้ำขึ้นมา

เราทดลองกันหลากหลายวิธีมากค่ะ ตั้งแต่ปรับอุณหภูมิน้ำให้อุ่นขึ้น เปลี่ยนสถานที่ถอดเสื้อผ้าลูกจากโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อมอันแสนคับแคบมาเป็นบนเตียงนอนขนาดคิงไซส์ของพ่อแม่ ลองเปลี่ยนเวลาอาบน้ำจากช่วงเช้ามาเป็นช่วงบ่ายแก่ๆ เปิดเพลงกุ๊งกิ๊งสร้างบรรยากาศในการอาบน้ำ ย่นเวลาอาบน้ำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ไปจนถึงลงทุนซื้ออ่างอาบน้ำใหม่ แต่ทุกวิธีที่กล่าวมาล้วนไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับเจ้าวู้ดไพล์...เพราะพี่เค้าก็ยังคงร้องไห้แควกๆไม่แคร์สื่อต่อไป T-T

จนกระทั่งได้มาลอง Baby Massage หรือ “การนวดสัมผัสให้ทารก” ก็ถึงกับต้องกรีดร้องด้วยความดีใจประหนึ่งเดินจูงอูฐอยู่ท่ามกลางทะเลทรายอันร้อนระอุแล้วได้พบกับโอเอซิสยังไงอย่างงั้น

ก็ลองนวดๆไป นวดเสร็จก็พาไปอาบน้ำ...

ผลปรากฏว่า...ไม่มีน้ำตาให้เห็นแม้แต่หยดเดียว!! พระเจ้าจอร์จมันยอดมาก!! ตอนถอดเสื้อถอดกางเกงก็ให้ความรวมมืออย่างดี มีบิดตัวเอี๊ยดอ๊าดไม่ชอบใจตอนเช็ดหน้าเช็ดลิ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่ร้องไห้ (ปกตินี่ร้องจ้าไปนานแล้ว) ตอนจับสระผมกับอาบน้ำก็ทำหน้าตาดูมีความสุข  ตอนนั้นก็คิดว่า แอร๊ย!! นี่ชั้นคิดไปเองรึเปล่า สงสัยจะฟลุคมากกว่ามั้ง 

วันรุ่งขึ้นลองอีก...ก็ยังได้ผลดีแบบเดิม นี่ก็นวดวู้ดไพล์ก่อนอาบน้ำต่อเนื่องกันมาเป็นอาทิตย์แล้วค่ะ รู้สึกได้เลยว่าวู้ดไพล์ดู ผ่อนคลาย มีความสุข และสงบหลังจากถูกนวด ดีใจมากๆที่ไม่ต้องเห็นลูกร้องไห้ทุรุนทุรายเวลาที่ต้องอาบน้ำอีกต่อไป^^

ถ้าคุณลูกบ้านไหนมีปัญหาในการอาบน้ำ ลองใช้วิธีนวดสัมผัสก่อนอาบน้ำแบบพิมดูได้นะคะ

จริงๆแล้วประโยชน์ที่ลูกน้อยของเราจะได้รับจากการนวดสัมผัสนี่มันมากมายก่ายกองมากกว่าแค่ช่วยทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายนะคะ ด้านล่างนี้คือประโยชน์ที่สำคัญอื่นๆที่ลูกน้อยจะได้รับจากการนวดสัมผัสค่ะ

-->
·      ช่วยการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ระบายลม ลดอาการท้องอืด ทารกจึงรับประทานนมได้เพิ่มขึ้น และนอนหลับได้นานขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็ว (การศึกษาในประเทศไทย คุณถนอมศรี เอี่ยมศิลาและคณะ พบว่า ทารกที่เกิดก่อนกำหนด ที่ได้รับการนวดวันละครั้ง ครั้งละ 15 นาที เป็นระยะเวลาสองสัปดาห์ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นร้อยละ 35)
·      ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ทำให้มีการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น จึงช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงทั่วตัว ข้อต่อต่างๆ สามารถรับน้ำหนักและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น เตรียมพร้อมที่จะหัดคลาน นั่ง ยืน เดิน นอกจากนั้นยังช่วยกระตุ้นการดูดกลืนให้ดีขึ้น
·      ช่วยลดอาการเจ็บปวดให้น้อยลง โดยยับยั้งการนำสัญญาณความเจ็บปวดไปสู่สมอง
·      ส่งเสริมความผูกพันทางจิตใจ เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะอยู่ใกล้ชิดกัน และเล่นกับลูก รวมทั้งได้พูดคุย มองหน้าและสบตา
·      ช่วยส่งเสริมการพัฒนาการด้านจิตใจ เด็กจะผ่อนคลายความตึงเครียด ไม่ร้องโยเย นอนหลับได้ง่ายและนานขึ้น ด้านสังคม เด็กจะมีจิตใจอ่อนโยน ไม่เล่นกร้าวร้าวเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อน        
·      ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส และการเรียนรู้ที่จะรักและไว้ใจของลูก
·      ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว 
·      ช่วยเพิ่มความสามารถของลูกที่จะเข้าใจ รู้จัก และแยกแยะส่วนต่างๆ ของร่างกาย
-->
·          ช่วยลดความไม่สบายตัวเวลาที่ฟันของลูกน้อยกำลังจะขึ้น รวมถึงเวลาที่ลูกมีแก๊สในกระเพาะ มีอาการโคลิค และมีความตึงเครียดทางจิตใจ

เป็นยังไงคะ...อ่านแล้วอยากจะลองนวดให้ลูกน้อยขึ้นมาเลยใช่มั้ยล่ะคะ^^ 
 การเตรียมตัวก่อนนวดสัมผัส:
1. ควรนวดในช่วงที่ลูกอารมณ์ดี ไม่หิว เช่นภายหลังอาบน้ำ หรือหลังรับประทานอาหาร อย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการอาเจียน จากการนวดท้อง แต่สามารถทำท่าอื่นได้ เช่น ลูบแขนขา ลูบไล้ศีรษะ (แต่หลังจากวู้ดไพล์อาบน้ำเสร็จใหม่ๆ พี่เค้าแทบไม่เคยอยู่ในโหมดอารมณ์ดีเลย T-T คือหลังจากอาบน้ำก็ยังอยู่ในอารมณ์ดราม่า สะอึกสะอื้นอยู่ พิมก็เลยลองนวดหลังจากที่ให้นมเสร็จสักประมาณ 1 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่กำลังอิ่มท้องนี่แหละค่ะ อารมณ์ดี ไม่งอแง)
2. อุณหภูมิห้องเหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป เพราะต้องถอดเสื้อผ้าลูกออกเวลานวด
3. ก่อนนวดล้างมือให้สะอาด ทาแป้งเด็ก ถ้ามือผู้นวดแห้งควรทาโลชั่น หรือ ออยล์ เพื่อช่วยให้การสัมผัสลูก เรียบลื่นและสม่ำเสมอ มิฉะนั้นผิวของลูกอาจระคายเคืองได้
4. ให้ลูกนอนบนเบาะนุ่มๆ หรือปูผ้าเนื้อหนาๆ เช่น ผ้าขนหนู ลงบนพื้น เพื่อให้ลูกนอนได้อย่างสบาย กล้ามเนื้อหูรูดจะผ่อนคลาย ลูกอาจปัสสาวะได้ ควรเตรียมผ้าอ้อมไว้เปลี่ยนด้วย



อุปกรณ์ในการนวด : เบาะรองเปลี่ยนผ้าอ้อม, ผ้าขนหนู และ เบบี้ออยล์


ก่อนจะนวดสัมผัสลูกทุกครั้งต้องเริ่มด้วยการ “ขออนุญาต” ลูกน้อย ด้วยการ สบตาลูก ถูน้ำมัน หรือโลชั่นที่มือไปมา แล้วพูดกับลูกว่า “แม่/พ่อขอนวดหน่อยได้ไหมจ๊ะ?” ถึงลูกน้อยจะยังตอบเราไม่ได้ แต่การขออนุญาตก่อนจะลงมือนวดลูกทุกครั้งเป็นเหมือนการส่งสัญญาณที่จะช่วยทำให้ลูกน้อยรู้ว่าการนวดกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว


ข้อปฏิบัติสำหรับคุณพ่อหรือคุณแม่ผู้นวดสัมผัสทารก
1.ล้างมือและแขนให้สะอาด
2.ถอดเครื่องประดับออกให้หมด
3.ตัดเล็บให้สั้นและสะอาด
4.นวดคลึงทารกอย่างนุ่มนวล เบามือ ไม่กดหรือบีบแรงๆ
5.ขณะนวดควรพูดคุยกับทารก ร้องเพลง หรือเปิดเพลงเบา
6.ไม่นวดบริเวณที่เป็นจุดบอบบางของทารก
7.สังเกตปฏิกิริยาทารกที่มีต่อการนวดสัมผัส และคอยสังเกตว่าทารกชอบให้นวดบริเวณใดเป็นพิเศษหรือไม่ หากไม่ชอบ ร้องไห้ หรือแสดงอาการไม่พอใจอื่นๆให้หยุด


วิธีนวดดูตามคลิปนี้ >> http://www.youtube.com/watch?v=FKFEI8q-Ii8 หรือคลิปนี้ http://www.youtube.com/watch?v=9_-P6jrMPDI เลยค่ะ ^_^


เปิดเพลงบรรเลงที่วู้ดไพล์ชอบคลอระหว่างการนวดไปด้วยค่ะ



เย่ๆ คุณแม่จะนวดให้วู้ดไพล์แล้วคับ



ระหว่างนวดก็ชวนวู้ดไพล์คุยไปด้วยค่ะ นี่แม่นวดแขนอยู่นะลูก นี่มือ นี่นิ้วโป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย ฯลฯ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการสอนคำศัพท์เกี่ยวกับร่างกายของเราให้ลูกด้วยค่ะ


นวดมือน้อยๆ


ช่วงเวลาที่นวดให้ลูก เป็นช่วงเวลาที่ทั้งแม่และลูกมีความสุขจริงๆค่ะ เห็นลูกยิ้มแย้ม คนเป็นแม่อย่างเราจะอดไม่ยิ้มตามได้ยังไงกัน^^


นวดพุงเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกา


ท่านวดตามเข็มนาฬิกานี้จะช่วยไล่ gas ในกระเพาะค่ะ


การนวดให้ลูกเป็นการช่วยให้ฮอร์โมน Oxytocin (อ๊อกซิโทซิน) ซึ่งเป็นฮอร์โมนควบคุมระดับความเครียดหลั่งค่ะ ผลก็คือจะช่วยทำให้ลูกน้อยของเราผ่อนคลาย ช่วยทำให้ร้องไห้น้อยลง แล้วก็นอนหลับได้ดีขึ้นด้วยค่ะ


การนวดให้ลูกไม่ได้ส่งผลดีเฉพาะกับลูกน้อยนะคะ แม่ๆอย่างเราก็ได้ผลดีตามไปด้วยค่ะเพราะการนวดลูกจะช่วยกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนโปรแลคติน (ฮอร์โมนตัวนี้เป็นตัวที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนมค่ะ)


เค้าบอกว่า สำหรับทารกการสัมผัสนี่เปรียบเสมือนกับการพูดคุยนะคะ เพราะฉะนั้นยิ่งเราสัมผัสเค้ามากเท่าไหร่ก็เท่ากับเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเราและลูกให้แน่นแฟ้นกันมากขึ้นเท่านั้น


โตขึ้นมาวู้ดไพล์ต้องชอบนวดเท้าเหมือนพ่อกับแม่แน่ๆ


วู้ดไพล์เมื่อยหลังด้วยค้าบคุณแม่ นวดหลังให้วู้ดไพล์ด้วย


แฮ่...สบายตัวจัง


แฮ่...สบายตัวจัง


พิมใช้เวลาในการนวดวู้ดไพล์ทั้งหมดประมาณ 15 นาทีค่ะ ด้านหน้า 7 นาที ด้านหลัง 6 นาที จบการนวดใช้เวลา 2 นาที


ถูกนวดไปด้วย หม่ำมือไปด้วย ชิลจริงจริ๊ง


ถ้าบ้านไหนลองนวดคุณลูกแล้วได้ผลดียังไง อย่าลืมมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะคะ

เจอกันบล๊อกหน้าค่ะ สวัสดีค่ะ


Wednesday, October 10, 2012

First Month เดือนแรกกับเจ้าวู้ดไพล์ของแม่


“เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก”
เพิ่งจะได้รู้ซึ้งถึงความหมายของประโยคนี้อย่างแท้จริงก็ตอนมีเจ้าวู้ดไพล์นี่แหละค่ะ แต่ละวันหมุนติ้วๆผ่านไปอย่างรวดเร็ว

รู้สึกตัวอีกที…อะไรกัน…นี่ผ่านมาหนึ่งเดือนแล้วเหรอเนี่ยะ?!

ถ้าถามว่ารู้สึกยังไงบ้าง หนึ่งเดือนเต็มๆที่เพิ่งผ่านพ้นไปกับบทบาทคุณแม่มือใหม่... ขอตอบอย่างไม่เกรงใจเลยว่า ยุ่งมาก! เหนื่อยมาก! ง่วงมาก! โทรมมาก! แต่ก็ต้องขอบอกอีกเหมือนกันว่ามีความสุขมากๆๆถึงมากที่สุด^^
 
ตั้งแต่วันแรกที่โรงพยาบาล 5 ชั่วโมงหลังการผ่าคลอด ก็ต้องเริ่มเข้าสู่กระบวนการดูดกระตุ้นน้ำนม คือคุณพยาบาลจะเข็นลูกน้อยมาเสิร์ฟให้ถึงห้องพัก ให้มาดูดนมจุ๊บจิ๊บๆข้างละ 20 นาที รวมเป็น 40 นาที แล้วก็เว้นไปอีก 3 ชั่วโมง ทำเป็นวงจรอย่างนี้เรื่อยไป 3 คืน 4 วันจนกระทั่งออกจากโรงพยาบาล

เจ้าวู้ดไพล์ถูกเข็นมาถึงที่ห้องพักเพื่อมาดูดกระตุ้นนมแม่เป็นครั้งแรก ไม่รู้พี่เค้างอนใครอยู่

การให้ลูกดูดกระตุ้นน้ำนมอาจจะฟังดูง่ายๆ ก็แค่เอาลูกมาจุ๊บจิ๊บๆที่แหน่นแน้น ตัวแม่ก็ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย แต่ในความเป็นจริงแล้วมันต้องอาศัยความถึกของผู้เป็นแม่อยู่ไม่ใช่น้อย คือทั้งที่ยังมึน อ่อนเพลีย และเจ็บแผลจากการผ่าตัดอยู่มากๆ อยากจะนอนพักยาวๆ ก็ต้องถูกปลุกขึ้นมาทุกๆ 3 ชั่วโมง ช่วงกลางวันก็แทบไม่เคยได้นอนพัก เพราะมีมิตรรักแฟนเพลงมาเยี่ยมกันแบบไม่ขาดสาย อยากจะอาศัยช่วงที่ลูกมาดูดกระตุ้นนอนหลับไปก็ทำไม่ได้เพราะเจ็บแผล และปวดมดลูกมาก (เวลาที่มีการกระตุ้นหัวนมจะร่างกายจะหลั่งสารชื่อ oxytocin ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว เพราะฉะนั้นเมื่อลูกดูดนมจึงมักมีอาการปวดมดลูกตามมา) เกินกว่าจะข่มตาหลับลงได้

ขนาดเป็นการให้นมลูกในท่านอนตะแคง ที่คุณพยาบาลบอกว่าเป็นท่าที่เหมาะสำหรับคุณแม่ผ่าคลอดเพราะตัวของลูกจะไม่ไปสัมผัสกับแผลผ่าตัด ก็ยังเจ็บ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเปลี่ยนข้างพลิกตัวตะแคงไปทางซ้ายหรือขวา...โอ้ว...อย่าให้เซ่ดเลยค่ะ ที่สุดของแจ้จริงๆ

    :: ท่าให้นม ::

                       ท่าลูกนอนขวางบนตัก (Cradle hold)  

          ท่าลูกนอนขวางบนตักแบบประยุกต์ (Cross cradle hold)

                         ท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Football hold) 

                               ท่านอน (Lying position)

 
แต่เพื่อลูกแล้ว...เจ็บหรือปวดแค่ไหน แม่ก็ทนได้...

ยิ่งเวลาที่ลูกมาซบอกดูดนมนี่...ถึงจะเจ็บแผล และปวดมดลูกมากแค่ไหน แต่น้ำตาแห่งความสุขก็ไหลนองหน้าพรากๆ...มันเป็นอะไรที่ดราม่ามาก 555

ช่วงที่อยู่โรงพยาบาลนี่วู้ดไพล์เป็นเด็กดีมากค่ะ ไม่เคยเห็นลูกร้องไห้งอแงเลย เวลาที่คุณพยาบาลเข็นมาดูดกระตุ้นน้ำนมที่ห้อง ทั้งๆที่น้ำนมยังไม่ค่อยออก (มีมาให้เห็นแค่เป็นหยดๆ) ก็เป็นเด็กดีพยายามช่วยดูดกระตุ้นอย่างตั้งใจ เจอกันกี่ครั้งก็ไม่เคยร้องไห้โยเย

เห็นลูกร้องไห้แควกๆแบบไม่ติดเบรคก็ตอนฝึกอาบน้ำโน่นเลยค่ะ เห็นครั้งแรกก็ culture shock อยู่ในใจ ประมาณว่า เย้ย...กลับบ้านไปนี่ชั้นต้องเจออะไรแบบนี้ทุกคืนรึเปล่า?! แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่า ไม่หรอกๆ...น่าจะเป็นเฉพาะตอนอาบน้ำเท่านั้นแหละ ถูกห่อเป็นหนอนน้อยตัวอุ่นๆอยู่ดีๆ มาเจอน้ำอุณหภูมิห้องเข้าไป ก็ต้องตกใจร้องแควกๆๆเป็นธรรมดา 

แควกๆๆสุดเสียง  
 
คืนแรกที่บ้านขอบอกว่าเหนื่อยหัวฟูตาดำแพนด้ากันมากๆทั้งพิมและยุ่น คือวู้ดไพล์ไม่ได้งอแงให้เหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใดเลยนะคะ มีแต่พ่อกับแม่เนี่ยะแหละที่บ้าบอแพนิคกันไปเอง ทั้งๆที่ลูกน้อยกำลังนอนหลับสบายอยู่ในเตียงเด็กอ่อนก็ไม่ยอมหลับไปพร้อมกับลูก มัวแต่กังวลกันว่าลูกที่กำลังนอนอยู่ในท่าตะแคงจะดิ้นดุ๊กดิ๊กจนกลายมาอยู่ในท่านอนคว่ำด้วยตัวเองแล้วขาดอากาศหายใจเด๊ดสะมอเหร่ไป (หมกมุ่นกับเรื่อง SIDS Sudden Infant Death Syndrome หรือภาวะไหลตายในเด็กมากเกินไปหน่อย) เลยกลายเป็นว่าทั้งพ่อและแม่ไม่มีใครนอน แต่มานั่งจุ้มปุ๊กอยู่ข้างๆเตียงนอนลูก แล้วก็จ้องลูกอยู่อย่างนั้นจนถึงเช้า  =_=


ถ้าไม่นับความกังวลที่เกิดขึ้นจากตัวพ่อกับแม่เอง กับความเหน็ดเหนื่อยจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาทิตย์แรกกับเจ้าวู้ดไพล์นี่ถือว่าผ่านไปได้อย่างราบรื่นค่ะ เพราะไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืนวู้ดไพล์จะนอนยาว 3-4 ชั่วโมง  พอนอนเต็มอิ่มก็จะทำตัวเป็นนาฬิกาปลุก ร้องไห้แควกๆขึ้นมาขอหม่ำนม หม่ำนมเสร็จก็นอนต่อ ชีวิตเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่กินกับนอน ไม่มีร้องไห้เพราะสาเหตุอื่นเลย

คุณพ่ออาบน้ำให้ที่บ้านก็ไม่มีโวย  

 

แต่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นี่เหนื่อยจริงอะไรจริงค่ะ ยิ่งช่วงสัปดาห์แรกนี่สุดๆไปเลย  เตียงนอนที่บ้านก็ไม่ใช่เตียงปรับเอนขึ้นลงแบบที่โรงพยาบาล เวลาจะขึ้น ลง หรือเอนตัวนอนเพื่อให้นมลูกนี่เจ็บแผลสุดๆ

มีคนบอกว่าเวลาลูกหลับก็ให้หลับพักผ่อนไปพร้อมกับลูก

ได้หลับจริงค่ะ แต่มันสั้นกว่าที่คิดไว้มาก!

นั่งให้นมลูกเกือบๆชั่วโมง พอให้นมลูกเสร็จก็ต้องจับลูกเรอ ซึ่งบางทีใช้เวลานานเป็นครึ่งชั่วโมงกว่าจะเรอออก 

วิธีจับลูกน้อยเรอ

หลังจากจับลูกเรอ ก็ต้องกล่อมลูกให้หลับอีก ก็ร้องเพลงกันไป บางทีแค่ฮัมๆช่วงอินโทรของเพลงก็หลับคอพับคออ่อน 

คุณยายฮัมเพลงกล่อมเจ้าวู้ดไพล์หลับสบาย
 
แต่บางที...ร้องจนหมออัลบัมแล้วลูกยังตาแป๋วเป็นนกฮูกอยู่เลย พอลูกหลับคร่อก ไอ้เราก็คิดว่า เย่...ได้เวลาเราหลับแล้ว แต่พอเหลือบมองนาฬิกาก่อนจะเข้านอนก็ถึงกับช็อคที่เห็นว่า อีกแป๊บเดียวก็ต้องตื่นมาให้นมลูกอีกแล้วเหรอ T___T เป็นวงจรอย่างงี้เรื่อยไปไม่มีวันจบสิ้น เจ็บจริง เหนื่อยจริง ไม่ใช้แสตนอินเลยค่ะ

แล้วที่บ้านก็ไม่มีคุณพยาบาลมาช่วยดูว่าเราเอาลูกเข้าเต้าถูกวิธีรึเปล่า ตอนอยู่โรงพยาบาลก็อาศัยมีคุณพยาบาลคอยช่วยแก้ท่าทางให้ พอกลับบ้านมาเลยต้องมาหาข้อมูลเพิ่มเติมเองเพราะรู้สึกว่าที่ทำอยู่มันยังไม่ถูก คือคุณพยาบาลบอกมาว่าถ้ารู้สึกเจ็บเวลาลูกดูดนม แสดงว่ายังเอาลูกเข้าเต้าไม่ถูกต้อง

ด้านล่างนี่เป็นท่านำลูกเข้าเต้าที่ถูกต้อง ได้มาจาก www.thaibreastfeeding.org ค่ะ (ขอขอบพระคุณสำหรับข้อมูลดีๆค่ะ)

เริ่มจากใช้มือประคองเต้านม โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน เหนือขอบนอกของลานหัวนม  ส่วนนิ้วที่เหลือประคองเต้านมด้านล่าง (ไม่ควรใช้ท่าแบบนิ้วคีบบุหรี่ เพราะช่องว่างระหว่างนิ้วจะแคบ ทำให้ลูกอมได้ไม่ลึกพอ  และนิ้วอาจจะกดบริเวณท่อน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลไม่ดี)


อุ้มลูกโดยใช้มืออีกข้างประคองที่ต้นคอและท้ายทอย (ไม่กดที่ใบหู) ลูกเงยหน้าเล็กน้อย เคลื่อนลูกเข้ามาโดยให้คางของลูกเข้ามาชิดกับเต้านมส่วนล่าง (สังเกตว่าจังหวะนี้จมูกของลูกจะอยู่ตรงกับหัวนมแม่) ลูกก็จะเริ่มอ้าปาก ถ้าลูกไม่อ้าปาก ให้ใช้หัวนมเขี่ยริมฝีปากล่างของลูกเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปาก

 
รอจนลูกอ้าปากกว้าง (เหมือนหาว) จึงเคลื่อนศีรษะลูกเข้าหาเต้านมอย่างรวดเร็วแต่นุ่มนวลก่อนที่ลูกจะเริ่มหุบปากลง จะไม่ใช้วิธีโน้มตัวแม่เพื่อนำเต้านมเข้าหาลูก







ให้ลูกอมงับถึงลานนม โดยให้อมลานนมส่วนล่างมากกว่าลานนมส่วนบน ให้คางลูกแนบชิดกับเต้านมส่วนล่าง  วิธีนี้จะช่วยให้ลิ้นของลูกยื่นออกมารีดน้ำนมจากเต้าแม่ได้ดีขึ้น และจมูกของลูกจะอยู่ห่างออกจากเต้าแม่เล็กน้อย คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะหายใจไม่สะดวก 

การอุ้มลูกเข้าเต้าอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้แม่ไม่เจ็บหัวนมแล้ว ยังทำให้ลูกดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย


ดูคลิปนี้ประกอบจะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้นค่ะ



นอกจากเรื่องวิธีเอาลูกเข้าเต้าแล้ว ก็ยังกังวลด้วยว่าน้ำนมเราจะพอเลี้ยงลูกรึเปล่า เพราะเวลาลูกดูดเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าน้ำนมเราออกมากน้อยแค่ไหน แต่คุณหมอก็บอกวิธีการสังเกตว่าเรามีน้ำนมพอหรือไม่พอ โดยให้ดูว่า  ใน 24 ชม. นับผ้าอ้อมเปียกได้กี่ผืน  ถ้านับได้ 6-8 ผืน หรือแพมเพิร์ส 4-5 ชิ้น อึสีเหลืองทอง ถือว่าน้ำนมพอ ซึ่งพอนับๆดูก็ผ่านเกณฑ์เลยคลายกังวลลงไปได้


หลังจากอาทิตย์แรกผ่านไปก็เกิดการเปลี่ยนแปลง อาทิตย์ที่สอง สาม และสี่จากที่กลางคืนเคยนอนยาว 3-4 ชั่วโมง ก็เริ่มตื่นถี่ขึ้น คือตื่นทุกๆ 1-2 ชั่วโมงเลย แถมยังมีอาการแหวะนม มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วนอนๆอยู่ก็มีการส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าดแปลกๆ เบ่งบ้าง คำรามบ้าง พร้อมกับบิดขี้เกียจไปมา บางทีบิดรุนแรงจนหน้าดำหน้าแดงดูทรมานมากๆ แล้วก็จบที่การร้องไห้แควกๆๆ 

เวลาพี่เค้าโวยอะไรก็เอาไม่อยู่นอกจากแหน่นแน้นของแม่
 
ครั้งแรกที่เห็นลูกมีอาการอย่างที่ว่าก็ตกใจ รีบปรึกษา คุณหมอ Google เลยได้เจอกับข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง อาการบิดตัวไปมาของทารกเนี่ยะ ถ้าเป็นคนโบราณเค้าจะเรียกว่า “บิดเรียกเนื้อ” คือมีความเชื่อกันว่ายิ่งบิดตัวไปมาบ่อยเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะแปลว่าลูกน้อยจะโตไวมีเนื้อเยอะมากขึ้น เค้าบอกว่าไม่ต้องกังวลเพราะอีกเดี๋ยวก็จะเลิกบิดไปเอง แต่นั่นเป็นเพียงความเชื่อที่ผิดๆ เพราะแพทย์แผนปัจจุบันอธิบายอาการดังกล่าวว่าเป็นหนึ่งใน 5 อาการของภาวะ overfeeding หรือการกินนมมากเกินไปนั่นเองค่ะ

อาการทั้ง 5 ข้อของภาวะ overfeeding คือ
1. นอนร้องเสียงเป็นแพะ เป็นแกะ
2. บิดตัวเยอะ ร้องเสียงเอี๊ยดอ๊าด
3. มีเสียงครืดคราดในคอ เป็นเสียงของนมที่ล้นจากกระเพาะขึ้นมาที่คอหอยแล้ว
4. แหวะนม อาเจียนบ่อย
5. พุงกางเป็นทรงน้ำเต้าตลอดเวลา

ปรึกษาคุณหมอ Google เสร็จก็ยังไม่ค่อยวางใจ เลยขนกันไปรพ.ไปปรึกษาคุณหมอตัวจริงกันอีกที ก็ได้รับการคอนเฟิร์มแบบเดียวกันเป๊ะว่าเป็นภาวะ overfeeding จริงๆ

คุณหมอบอกว่าวิธีการแก้ไขก็คือ…อย่าให้นมลูกบ่อยเกินไป คือไม่ใช่ให้นมทุกครั้งที่ลูกร้อง เวลาลูกร้องไห้ให้พยายามเบี่ยงเบนความสนใจลูก แต่ก็ลองหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้องเพลงให้ฟัง คุยเล่น  พาอุ้มเดิน แต่บทเจ้าวู้ดไพล์โยเยขึ้นมาก็ไม่มีอะไรเอาอยู่เลย นอกจาก…แหน่นแน้นของแม่เท่านั้น Y-Y

ส่วนเรื่องแหวะนม คุณหมอบอกว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหารของทารกแรกเกิดยังทำงานได้ไม่ดี คุณหมอเลยแนะนำให้พยายามจับเรอระหว่างการให้นมด้วย  ไม่ใช่รอจนให้นมจนเสร็จแล้วค่อยจับเรอรวดเดียว แล้วเวลานอนให้จับนอนตะแคงขวาแบบยกหัวสูงซักครึ่งชั่วโมง คุณหมอบอกว่าที่ต้องให้จับนอนตะแคงขวาก็เพื่อให้ส่วนบนของกระเพาะซึ่งอยู่ด้านซ้ายอยู่สูงกว่าส่วนอื่น น้ำนมก็จะไหลย้อนขึ้นยากหน่อย 

กลับบ้านมาลองทำตามที่คุณหมอแนะนำก็รู้สึกว่าลูกแหวะนมน้อยลงจริงๆ ใครที่มีปัญหาลูกแหวะนมอยู่ อยากให้ลองนำวิธีนี้ไปใช้ดูนะคะ


เลี้ยงลูกกันเองนี่เหนื่อยมากจริงๆค่ะ ได้นอนวันละไม่กี่ชั่วโมง แถมยังมีเรื่องโน้นนี้นั้นให้กังวลไม่เว้นแต่ละวัน แต่ก็มีความสุขมากๆๆถึงมากที่สุดทุกๆวัน

มีความสุขที่ได้เฝ้าดูทุกๆพฤติกรรม ทุกพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวันของเค้า มีความสุขที่ได้ซึมซับทุกความทรงจำ ทั้งทุกข์ และสุขที่เกิดขึ้นระหว่างเราสามคนพ่อแม่ลูก 

เจ้าวู้ดไพล์พลิกหน้ากลับไปมาได้เองตอนเล่น Tummy Time อยู่บนพุงคุณพ่อ (วันที่ 17)
 
เวลาที่เหนื่อยหรือท้อ แค่มองตาใสแป๋วของลูกก็เหมือนได้เติมพลังชีวิต เหนื่อยหรือท้อแค่ไหนก็ไม่เคยคิดจะถอย

นี่เพิ่งผ่านไปแค่หนึ่งเดือนเอง...หนทางข้างหน้ากับเจ้าวู้ดไพล์ยังอีกยาวไกล...

สู้(ว้อย)ค่ะ!!